ความเป็นมาโรงถ่านมาลัย

โรงถ่านของเราชื่อโรงถ่านมาลัยเพราะเจ้าของโรงถ่านชื่อคุณมาลัย คุณมาลัยได้สืบทอดกิจการมาจากคุณพ่อเมื่อหลายสิบปีก่อน ขณะที่คุณพ่อของคุณมาลัยทำกิจการยังเป็นโรงถ่านเล็กๆ หลังจากคุณมาลัยมาสืบต่อกิจการก็ค่อยๆขยับขยายกิจการมาจนถึงทุกวันนี้

ความเป็นมาของเราไม่มีอะไรซับซ้อน เนื่องจาก ต.ยี่สาร เป็นแหล่งปลูกไม้โกงกางของจังหวัดสมุทรสงคราม และอาชีพการเผาถ่านเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนพื้นที่มาช้านาน ถ่านไม้โกงกางของที่นี่จึงเป็นสินค้าขึ้นชื่อของสมุทรสงคราม ซึ่งแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่บ้านเขายี่สาร ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา

บ้านเขายี่สารเป็นพื้นที่ ที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นในสมุทรสงคราม เนื่องจากมีพื้นที่เป็นป่าชายเลนซึ่งเป็นพื้นที่น้ำเค็มและไม่สามารถเพาะปลูกพืชชนิดอื่นได้นอกจากพืชไม้ชายเลนเท่านั้น การประกอบอาชีพของผู้คนที่นี่หลายครัวเรือนจึงยึดอาชีพอบถ่านหรือที่คนทั่วไปเรียกติดปากว่าเผาถ่านนั่นเอง

ไม้ที่นำมาเผาถ่านคือไม้โกงกางใบเล็กมีคุณสมบัติพิเศษในการทำถ่านได้อย่างดี ชาวบ้านในพื้นที่หลายครัวเรือนที่นี่จึงยึดอาชีพนี้มาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษและเนื่องจากว่าอาชีพนี้ต้องตัดไม้เพื่อมาทำถ่าน ชาวบ้านยี่สารจึงต้องปลูกไม้โกงกางใบเล็กขึ้นมาทดแทนต้นโกงกางที่ถูกตัดไปหรือที่เรียกว่าการปลูกหมุนเวียนนั่นเอง

ทางโรงถ่านของเรามีพื้นที่ปลูกไม้โกงกางกว่า 200 ไร่ในการปลูกพืชหมุนเวียน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทางโรงถ่านจึงรับซื้อไม้จากชาวบ้านในพื้นที่เพิ่ม ซึ่งมีชาวบ้านจำนวนมากที่ขายไม้ให้เราเนื่องจากชาวบ้านบางรายไม่มีความรู้เรื่องการอบถ่านและไม่มีเตาอบถ่านเป็นของตัวเอง จึงทำให้โรงถ่านของเรามีไม้เข้ามาหมุนเวียนในการอบถ่านเสมอ และยังเป็นการกระจายรายได้ให้ชุมชนอีกด้วย

ต้นโกงกางที่เราจะนำมาอบถ่านนั้นต้องมีอายุครบ 13 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลานานมาก จึงจำเป็นต้องมีการหมุนเวียนปลูกไม้โกงกางให้สมดุลกับการตัดมาใช้เผาถ่าน ดังนั้นชาวบ้านยี่สารจึงต้องปลูกป่าทดแทนอย่างจริงจังและควบคุมการตัดไม้เพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบนิเวศของพื้นที่ สัตว์น้ำจะได้มีที่อยู่ที่อาศัยและเพื่อให้มีทรัพยากรหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องต่อไป

ต้นโกงกางใบเล็กนั้น เป็นต้นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่จะเจริญเติบโตได้ดีในป่าชายเลนที่น้ำทะเลท่วมถึง แต่ไม่ท่วมขัง ลักษณะของลำต้นจะสูงเป็นแท่งตรง และมีรากค้ำยันที่โคนต้น ขยายพันธุ์โดยใช้ฝัก วิธีปลูกจะปักฝักลงในดินลึกประมาณ 5 ซม.  พื้นที่ 1 ไร่ใช้ต้นกล้าไม้โกงกางประมาณ 4,000 ต้น และอาจต้องปลูกเพิ่มกรณีที่ต้นตายจากหลายปัจจัยด้วย

เมื่อต้นโกงกางมีอายุครบ 13 ปี จะตัดทั้งต้นทั้งรากเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่าง ๆ แตกต่างกันและเตรียมพื้นที่ให้โล่งเพื่อลงต้นกล้าไม้โกงกางต่อไป ไม้ทั้งหมดจะถูกตัดเป็นท่อนๆ ยาวประมาณ 1.3 เมตร และเอาเปลือกไม้ออกโดยการทุบจนเปลือกไม้หลุดออกมาจนหมดเนื่องจากถ้าไม่เอาเปลือกไม้โกงกางออกก่อน ถ่านจะออกมาสีไม่สวย ไฟไม่แรง และน้ำหนักจะน้อยลง เปลือกไม้โกงกางก็จะนำมาทำเชื้อฟืนในการอบถ่านส่วนกิ่งก้านที่ไม่ได้ขนาดรวมทั้งรากจะนำมาทำเชื้อเพลิงสำหรับอบถ่านต่อไป เรียกได้ว่าใช้ทุกส่วนของต้นโกงกางกันเลยทีเดียว ยกเว้นใบที่จะถมไว้ตรงพื้นที่ปลูกเพื่อให้เป็นปุ๋ยต่อไป

เนื่องจากพื้นที่ปลูกต้นโกงกางเป็นพื้นที่ป่าชายเลนและไม่สามารถขนส่งทางรถได้ การจะนำไม้ออกมานั้นต้องใช้เรือเข้าไปขนออกมาในช่วงน้ำขึ้นเท่านั้น การขนไม้จึงทำทั้งช่วงกลางคืนและกลางวัน ไม้ทั้งหมดจะถูกลำเลียงลงเรือเพื่อนำไม้มาไว้ที่โรงเตา

โรงเตาของเรามีจำนวน 2 โรง โครงสร้างเป็นไม้ไผ่ หลังคาและกำแพงทำด้วยจาก ข้างในโรงเตามีเตาถ่านรูปทรงโดมขนาดใหญ่ที่สามารถใส่ไม้โกงกางได้ 7-8 ตันต่อ 1 เตา จำนวน 6 เตา ต่อ 1 โรงเตา เรามีเตาถ่านทั้งหมด 12 เตา แต่ละเดือนจะสามารถผลิตถ่านได้ 80 ตัน ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า

ถ่านโกงกางมีคุณสมบัติโดดเด่นคือให้ไฟแรง และสม่ำเสมอ ควันน้อย เถ้าน้อย และไม่แตกปะทุ เราภูมิใจกับถ่านไม้โกงกางตั้งแต่ที่มา กระบวนการ และการใช้งาน ปิ้งย่างครั้งต่อไปลองหาถ่านไม้โกงกางมาใช้ดูนะคะ

กว่าจะมาเป็นถ่าน

เราจะเตรียมต้นกล้าไม้โกงกางใบเล็กไว้จำนวน 4000 ต้นต่อ 1 ไร่ เพื่อปลูกทดแทนต้นที่ตัดมาอบถ่าน ต้นโกงกางต้องมีอายุ 13 ปี จึงตัดและนำมาอบถ่านได้

การตัดต้นโกงกางจะตัดทั้งต้นและราก ลำต้นและกิ่งใหญ่ๆ จะถูกนำมาตัดเป็นท่อนๆ ยาว 130 ซม. ส่วนกิ่งเล็กๆ และรากจะใช้เป็นเชื่อเพลิงในการอบถ่าน

หลังจากตัดไม้โกงกางและตัดให้เป็นท่อนไม้ยาว 130 ซม. แล้ว ก็ถึงขั้นตอนการทุบเอาเปลือกไม้โกงกางออกเพื่อให้สีของถ่านสวย และถ่านแข็ง ติดไฟทนนาน

หลังจากนั้นจึงเอาเข้าเตาอบที่มีลักษณะคล้อยโดม มีทางเข้าเล็กๆ ขนาดพอสำหรับ 1 คนเข้าออก

เมื่อเรียงไม้โกงกางเสร็จเรียบร้อยแล้วจะปิดปากทางเข้าเตาอบและเหลือช่องเล็ก ๆ ไว้ด้านล่างสำหรับใส่เชื้อเพลิง

นำกิ่งไม้โกงกางและรากไม้โกงกางมาทำเชื้อเพลิง

สุมไฟแบบนี้ไป 15 วันซึ่งจะต้องมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าเตาและคอยใส่เชื้อเพลิงตลอดเวลา

หลังจากครบ 15 วันแล้วจะหยุดสุมไฟและปิดช่องใส่ไฟและรออีก 15 วัน จึงจะสามารถนำถ่านออกจากเตาอบได้

การนำถ่านออกจากเตาอบต้องทุบประตูที่ปิดออกก่อนจากนั้นจึงเข้าไปทยอยเอาถ่านออกมา

กระบวนการคัดแยกถ่าน 

ทางพนักงานจะคัดแยกถ่านโดยแยกเป็นถ่านที่แตกกับไม่แตกเพื่อขายตามสถาพ และตัดแต่งขนาดตามที่กำหนด โดยมี 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง ใหญ่ ซึ่งทั้ง 3 ขนาดจะเป็นท่อนยาว 20 ซม. แต่ความกว้างจะไม่เท่ากัน โดยขนาดเล็กจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 ซม. ขนาดกลาง จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-7 ซม. และขนาดใหญ่ จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8-9 ซม.

เศษถ่านที่เหลือจากการคัดแยกจะนำมาบรรจุส่งถุงหรือกระสอบตามคำสั่งซื้อของลูกค้าต่อไป

ขนาดเล็ก

เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 ซม.

ขนาดกลาง

เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-7 ซม.

ขนาดใหญ่

เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8-9 ซม.

เศษถ่านที่เหลือ
จากการคัดแยก

จะนำมาบรรจุส่งถุงหรือกระสอบตามคำสั่งซื้อของลูกค้า